วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วันรพี จังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี ๒๕๕๗

       


           หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดกาญจนบุรีร่วมจัดพิธีถวายสักการะ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทยเนื่องในวันรพีจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี ๒๕๕๗



          หน่วยงานกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดกาญจนบุรีร่วมจัดพิธีถวายสักการะ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย เนื่องในวันรพีจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี  ๒๕๕๗   เพื่อรำลึกถึง พระกรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย



          วันนี้ ๗  สิงหาคม ๒๕๕๗  เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ.เมือง จังหวัดกาญจนบุรี นางมัณทรี อุชชิน อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค ๗  เป็นประธานในพิธีถวายสักการะ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เนื่องในวันรพีจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี  ๒๕๕๗  โดยมี นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล อัยการจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการและพนักงานในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมในพิธีฯ



             เนื่องในวันที่ ๗ สิงหาคม เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขณะทรงมีพระชนม์มายุ  ๔๗  พรรษา เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓  ซึ่งนักนิติศาสตร์ได้เทิดทูนพระองค์เป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทยและกำหนดให้วันที่ ๗ สิงหาคมเป็นวันรพี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรี-ดิเรกฤทธิ์ ทรงพระนามเดิมว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระโอรสองค์ที่ ๑๔  ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแด่เจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาภาษาไทยและภาษาอังกฤษจนรอบรู้เชี่ยวชาญ ในปลายปีพ.ศ.๒๔๓๑ ขณะที่ทรงมีพระชนม์มายุ ๒๐  พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อต้านกฎหมายที่สหราชอาณาจักรและทรงสอบไล่ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยม ทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด



             จากนั้นพระองค์ได้ทรงรับราชการงานเมือง ในวันที่ ๓  มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงจัดให้มีการรวบรวมชำระสะสางจัดวางบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ทันสมัยเพียงพอแก่ความต้องการของบ้านเมืองและสังคม ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปอย่างมีระเบียบ เรียบร้อย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทุกศาล ทำให้เกิดความทัดเทียมกับของต่างประเทศและในปี ๒๔๔๐ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นแห่งแรกและทรงรวบรวมและสร้างแต่งตำรากฎหมายในลักษณะต่างๆไว้มากมาย เป็นรากฐานต่อการศึกษาวิชานิติศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและทำให้ราษฎรในสมัยนั้นมีโอกาสศึกษากฎหมายมากยิ่งขึ้น



       
    ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี / สมเจตน์ สายแก้ว
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น