วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช. เปิดเวทีผู้สูงวัยหวังให้อยู่อย่างเท่าเทียม





สำนักงานคณะกรรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเวทีหาทางให้ผู้สูงวัยอยู่อย่างมีค่าและเท่าเทียม ด้านผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย ระบุต้นเหตุความเหลื่อมล้ำในมิติความยุติธรรมของผู้สูงวัยมาจาก 3 จ




ดร.นัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนมุมมองกรณีปัญหาผู้สูงอายุด้านการเข้าถึงความยุติธรรม ระหว่างการอภิปรายเรื่อง “วิกฤตชีวิตผู้สูงอายุกับภัยจากความเหลื่อมล้ำ : มุมมองด้านสังคมและการเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง แนวทางสร้างสังคมผู้สูงวัย ห่างไกลวิกฤติชีวิตเผชิญความเหลื่อมล้ำ ที่ อาคาร วช.1 ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายนนี้ โดยกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย และเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนแล้ว ไทยก้าวไปเร็วมาก คาดการณ์ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ซึ่งต้นเหตุที่ส่งผลให้ผู้สูงวัยเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้านความยุติธรรม มาจาก 3 จ คือ จน เจ็บ และจบ โดยจนในที่นี้หมายถึงผู้สูงวัยมักประสบปัญหารายได้น้อยเมื่อมีอายุมากขึ้น รวมทั้งข้าราชการถึงมีบำนาญก็ไม่เพียงพอ ส่วนเจ็บหมายถึงเรื่องสุขภาพ เพราะขาดการเตรียมความพร้อม ทำให้เจ็บป่วยจากการทำงานหนักช่วงวัยหนุ่มสาว ขณะที่จบหมายถึงการศึกษาน้อย จึงขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิที่พึงควรได้รับ




ดร.นัทธี จิตสว่าง เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัดส่วนคนสูงวัยถูกคุมขังในเรือนจำในอัตราที่เพิ่มขึ้นสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก 3 จ ที่กล่าวมา โดยเฉพาะการต่อสู้คดี นอกจากไม่มีเงินแล้ว ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องคดีความ ส่งผลให้บางรายตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ เพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าถึงความยุติธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น




ด้านศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร แห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า แม้มีการจัดสวัสดิการรัฐช่วยเหลือผู้สูงวัยก็ตาม แต่ยังไม่ครอบคลุมและมีปัญหาร้องเรียน เนื่องจากผู้สูงวัยขาดการเข้าถึงบริการ ซึ่งอาจมาจากปัญหาเชิงระบบ ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจหรือผลประโยชน์ พร้อมเสนอให้เพิ่มโอกาสความเท่าเทียม เพื่อเป็นแนวทางลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน โดยต้องจัดการปัญหาจากคนรวยและผู้มีอำนาจ ลดการกำจัดสิทธิของคนจนหรือด้อยโอกาส เพิ่มศักยภาพประชากรผู้สูงวัยทุกระดับทุกกลุ่ม สร้างหลักประกันรายได้ สร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพระดับชุมชน ให้เรียนรู้ตลอดชีวิตและก้าวทันเทคโนโลยีดิจิตอลตลอดเวลา สนับสนุนแนวทางแบบร่วมจ่าย เช่น ให้ผู้สูงวัยร่วมจ่ายระหว่างอยู่ในสถานสงเคราะห์ เป็นต้น





ส่วนนางสาวศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยและปัญหาที่ประสบ ว่า สูงวัยในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ติดเตียง ติดบ้าน จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาแนวทางจัดการปัญหานี้ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ผลักดันการออมแห่งชาติ ขยายฐานอายุการทำงานของเอกชน จัดทำระบบดูแลสุขภาพทุกระดับ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกปลอดภัยทั้งในและนอกที่อยู่อาศัย สนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทอล เป็นต้น





การประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านร่วมอภิปรายสะท้อนมุมมองที่เป็นประโยชน์อย่างน่าสนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก พร้อมซักถามประเด็นข้อกฎหมายสิทธิต่าง ๆ และฝากข้อเสนอแนะให้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการของผู้สูงวัย ด้านรองศาสตราจารย์สุพัตรา สุภาพ ผู้รับทุนจัดประชุมสัมมนาฯ กล่าวว่า ต้องการให้เวทีนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสวงหาแนวทางเพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยอยู่อย่างไม่ด้อยกว่าใคร และอยู่อย่างมีความสุข โดยเฉพาะกำลังใจที่ผู้สูงวัยอาจต้องการมากกว่าเงินทอง




ขณะที่ วช. โดย นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประธานเปิดสัมมนาฯ กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยในเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมสูงวัยมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ผลสรุปที่ได้จากการสัมมนาฯ จะเป็นแนวทางเพื่อกำหนดกรอบวิจัยในอนาคต ซึ่งเป็นบทบาทของ วช.ที่จะต้องขับเคลื่อนให้บังเกิดผลต่อไป




จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
   เรวัติ น้อยวิจิตร   นสพ.พลังชน   rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น